วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC)



ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  (ASEAN Economic Community–AEC)
1. นโยบายและเป้าประสงค์
                1.1 รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศกับอาเซียนในลำดับต้นๆ ในฐานะมิตรประเทศที่มีความใกล้ชิดกับไทยมากที่สุด ไม่ว่าในด้านภูมิศาสตร์ความใกล้เคียงกันด้านสังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งมีมายาวนานและเหนียวแน่นที่สุด
                1.2 เป้าหมายในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือ การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่แข็งแกร่งและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาค รวมทั้งไทยด้วย
                1.3 จากเดิมที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ4ของไทยในปี2536ผลจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาทำให้อาเซียนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1ของไทยตั้งแต่ปี2551ปัจจุบันอาเซียนยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทยนำหน้าตลาดเดิมอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องสถิติมูลค่าการค้ารวมล่าสุดระหว่างไทยและอาเซียนในปี 2556อยู่ที่1แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยยังคงได้ดุล
                1.4 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2546 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Bali Concord II) เห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่13เมื่อเดือนมกราคม2550ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้บรรลุผลจากเดิมที่กำหนดไว้ใน ปี2563(ค.ศ. 2020) เป็นปี2558(ค.ศ. 2015)โดยในส่วนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาเซียนได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) เป็นแผนงานบูรณาการการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจต่างๆที่จะนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี2558 (ค.ศ. 2015)
                1.5 กรมอาเซียน ทำหน้าที่ เป็นสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (National ASEAN Secretariat) โดยเป็นไปตามข้อบทที่ 13 ของกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งกำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติเพื่อช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ 3 เสาหลักไปในทิศทางเดียวกันนอกจากนี้ ประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานและมีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเสาเศรษฐกิจ
                1.6 ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำยุทธศาสตร์ประเทศในภาพรวม ซึ่งให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมและการใช้โอกาสจากการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อีกด้วย

2. ข้อตกลงและพันธกรณีในการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
                2.1 อาเซียนได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) เป็นแผนงานบูรณาการ การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจต่าง ๆที่จะนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) AECBlueprint ประกอบด้วย4ส่วนหลัก ซึ่งอ้างอิงมาจากเป้าหมายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามแถลงการณ์บาหลี ฉบับที่2
(Bali Concord II)ได้แก่
(1) การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวโดยให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่มสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียนให้เป็นรูปธรรม
 (2) การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียนซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นด้านนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น กรอบนโยบายการแข่งขันของอาเซียน การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายภาษี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (การเงิน การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงาน)
(3) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาคซึ่งเป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของอาเซียน เช่น การสนับสนุนการพัฒนา SMEs และการเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการต่าง ๆ เช่นความคิดริเริ่มเพื่อการรวมกลุ่มของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration : IAI) เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ                 
(4) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกเน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาคเพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันอย่างชัดเจน เช่นการจัดทำเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในด้านการผลิต/จำหน่ายภายในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

                2.2 กลไกหลักในการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SeniorEconomicOfficials’Meeting-SEOM) และการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซีย(ASEANEconomicMinisters’Meeting-AEM) และเพื่อให้การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยมีพันธกิจต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการดำเนินงานให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันซึ่งมีความตกลงสำคัญ 3 ฉบับ ที่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้คือ
                2.2.1 ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement–ATIGA) กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนลดภาษีสินค้าในบัญชีลดภาษีให้ครบถ้วนภายในปี2553และใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากรได้เฉพาะเรื่องที่จำเป็นโดยกำหนดให้ลดภาษีสินค้าทุกรายการเหลือร้อยละ 0 ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวและสินค้าอ่อนไหวสูงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2553 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่   4ประเทศ (CLMV) ในส่วนของไทย กาแฟ มันฝรั่ง มะพร้าวแห้ง และไม้ตัดดอกอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวซึ่งลดภาษีเหลือร้อยละ 5 ทั้งนี้ ยังมีเรื่องเกี่ยวกับมาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures–NTMs) ที่อาเซียนจะต้องเร่งดำเนินการต่อไป
                2.2.2 กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Service–AFAS) กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทยอยเปิดตลาดบริการซึ่งตาม AEC Blueprint กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเปิดตลาดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นสามารถถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 70 ยกเว้นสาขาที่อ่อนไหว ปัจจุบันนักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ร้อยละ 70ในสาขา e-ASEAN (ICT) สาขาสุขภาพสาขาท่องเที่ยวและสาขาการบิน ซึ่งทั้ง 4 สาขาถือเป็นสาขาบริการเร่งรัด (Priority Integration Sector: PIS) สำหรับสถานะล่าสุดจะมีการลงนามข้อผูกพันชุดที่ 9 ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการบริการของอาเซียน (AFAS) ในเดือนสิงหาคม 2557
                2.2.3 ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement-ACIA) กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเปิดเสรีและให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติในสาขาที่ตกลงกัน 5 ประเภทคือ เกษตร ป่าไม้ เหมืองแร่และอุตสาหกรรมการผลิต รวมทั้งให้ความคุ้มครอง การส่งเสริม และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนแก่ประเทศสมาชิกอื่นใน 5 สาขาที่กล่าวมาข้างต้นด้วยปัจจุบันความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน (ACIA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2556 โดยยังสามารถแก้ไขรายการข้อสงวนได้ภายใน 12 เดือน นับจากวันที่ ACIA มีผลบังคับใช้
                2.3 สรุปได้ว่าอาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายในการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าได้อย่างน่าพอใจนับจากAFTAซึ่งถือเป็นช่วงแรกสำหรับพัฒนาการของAECจนถึงปัจจุบันและจากจุดนี้จนถึงปี 2558 อาเซียนจะต้องเร่งสานต่อการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีรวมถึงการปรับกฎระเบียบให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์       

     

กองเศรษฐกิจกรมอาเซียน มิถุนายน 2557

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  http://www.mfa.go.th 




คำถาม !!
1. เป้าหมายในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือ  ??
2. ปัจจุบันอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับที่เท่าไหร่ของไทย ??
3. กรมอาเซียน ทำหน้าที่ ??  
4. เป้าหมายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน ได้แก่ ??
5. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว เป็นอย่างไร ??
6. ความสำคัญกับประเด็นด้านนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่นอะไรบ้าง  ??
7.  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีอะไรบ้าง ??
8. กลไกหลักในการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นอย่างไร ??
9.  กาแฟ มันฝรั่ง มะพร้าวแห้ง และไม้ตัดดอกอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวซึ่งลดภาษีเหลือร้อยละเท่าไหร่  ??
10. อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายในการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าได้อย่างน่าพอใจได้อย่าไร ??





คำตอบ !!

1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่แข็งแกร่งและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาค รวมทั้งไทยด้วย

2. อันดับ 1

3. เป็นสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (National ASEAN Secretariat)

4.  1) การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว
     2) การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน
     3) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค
     4) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

5. โดยให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่มสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียนให้เป็นรูปธรรม

6. กรอบนโยบายการแข่งขันของอาเซียน การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายภาษี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 

7.  การเงิน การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงาน

8. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SeniorEconomicOfficials’Meeting-SEOM)  และการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซีย (ASEANEconomicMinisters’Meeting-AEM)  และเพื่อให้การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยมีพันธกิจต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

9. ร้อยละ 5

10. นับจากAFTAซึ่งถือเป็นช่วงแรกสำหรับพัฒนาการของAECจนถึงปัจจุบันและจากจุดนี้จนถึงปี 2558 อาเซียนจะต้องเร่งสานต่อการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีรวมถึงการปรับกฎระเบียบให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์      



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น