วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การเตรียมความพร้อมของไทยสู่การเป็นประชาคมอาเซียน



การเตรียมความพร้อมของไทยสู่การเป็นประชาคมอาเซียน
1. เป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2558
                1.1 อาเซียนมีเป้าหมายจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธันวาคม 2558โดยวิสัยทัศน์ร่วมของผู้นำอาเซียน คือการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงมีกฎกติกาที่ชัดเจน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเมื่อปี 2551 อาเซียนได้จัดทำกฎบัตรอาเซียนซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญอาเซียนเพื่อวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กร
                1.2 ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยสามเสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยประสานงานหลัก) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยประสานงานหลัก) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยประสานงานหลัก) โดยอาเซียนได้จัดทำแผนงาน (Blueprint) สำหรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในแต่ละเสา ซึ่งผู้นำอาเซียนได้รับรองเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน
                1.3 ในปี 2552 ไทยได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Connectivity)  เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของประชาคมอาเซียน และนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อีกทั้งเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในเวทีโลก และผู้นำอาเซียนได้รับรองแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียนในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 17 ณ กรุงฮานอย ในปี 2553 ซึ่งระบุความเชื่อมโยงใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ความเชื่อมโยงด้านกายภาพ อาทิ การพัฒนาเครือข่ายด้านคมนาคมความเชื่อมโยงด้านสถาบัน อาทิ การทำให้กฎระเบียบด้านการข้ามแดนต่างๆ มีความสอดคล้องกัน และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เพื่อให้ประชาชนในอาเซียนรู้จักกันและเข้าใจกันมากขึ้น
2. นโยบายรัฐบาล
                2.1 รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนตามที่ได้ประกาศต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2554 ที่จะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อย่างสมบูรณ์ โดยสร้างความพร้อมและความเข้มแข็ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง โดยรวมถึงการเร่งดำเนินการตามข้อตกลงในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตลอดจนการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งภายในและภายนอกภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกหลายประการเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
                2.2 การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนเป็นวาระแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้มีการบูรณาการยุทธศาสตร์ การทำงาน และแผนงานการเตรียมความพร้อมของไทยสู่ประชาคมอาเซียน และได้เป็นประธานการประชุมในเรื่องนี้ด้วยตนเอง
3. การเตรียมความพร้อมของไทย
                3.1 ไทยต้องสร้างความพร้อมและความเข้มแข็ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง รวมทั้งเร่งดำเนินการตามข้อผูกพันในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนปี 2558ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตลอดจนการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งภายในและภายนอกภูมิภาค ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศในอาเซียนตกลงกันไว้แล้ว เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและส่งเสริมบทบาทของไทยในอาเซียนต่อไป
                3.2 ไทยยังอยู่ระหว่างดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกหลายประการเพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน เพื่อรักษาและเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันของไทย ดังนั้น การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกส่วนราชการและทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชน
                3.3 กลไกที่เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
                                3.3.1 การประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 (ASEAN Workshop)ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงทั้งหมดเข้าร่วม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นฝ่ายเลขานุการ และได้จัดประชุมฯ แล้ว 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 วันที่ 25 ตุลาคม 2555 และวันที่ 7 มกราคม 2556และนำไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงแผนงานด้านการเตรียมความพร้อมของไทยสู่ประชาคมอาเซียนในด้านต่าง ๆ ของทุกส่วนราชการด้วย
                                กลไก ASEAN Workshop เน้นการบูรณาการการทำงานระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างต่าง ๆ ภายในประเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยและรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                                3.3.2 กลไกในระดับชาติเพื่อรองรับการดำเนินการในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ได้แก่
                                - คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน เป็นกลไกประสานงานระดับนโยบาย เพื่อบูรณาการการดำเนินการของหน่วยงานไทยและเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนปี 2558 อย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ และกระทรวงการต่างประเทศได้รวบรวมแผนงานสำหรับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558ของส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลเห็นภาพรวมของสิ่งที่ต้อดำเนินการเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งครอบคลุมถึงการดำเนินการตามพันธกรณีของไทยตามแผนการจัดตั้งประชาคมของแต่ละเสา (Blueprint) การสร้างความตระหนักรู้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ฯลฯ
                                - คณะอนุกรรมการว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน จัดตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ โดยมีรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน เพื่อประสานงานและติดตามให้มีการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทย
                                - คณะอนุกรรมด้านการประชาสัมพันธ์ประชาคมอาเซียน จัดตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ โดยมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน เพื่อบูรณาการงานการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและการสร้างความตระหนักรู้เรื่องอาเซียนแก่ทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้ประชาชนไทยมีส่วนร่วมกับการสร้างประชาคมอาเซียนและสามารถใช้โอกาสจากประชาคมอาเซียนได้อย่างเต็มที่
                                - คณะกรรมการ/อนุกรรมการสำหรับการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในแต่ละเสา โดยหน่วยงานที่เป็นผู้ประสานงานหลักของแต่ละเสาเป็นประธานเสาการเมืองและความมั่นคง ได้แก่ คณะกรรมการดำเนินการเพื่อจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงโดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน เสาเศรษฐกิจ ได้แก่ คณะอนุกรรมการดำเนินการตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และสำหรับเสาสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ คณะกรรมการแห่งชาติด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน
4. บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ
                4.1 กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทหลักใน 2 เรื่อง คือ
1) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานหลัก (focal point) ดูแลภาพรวมเรื่องอาเซียน ในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติตามกฎบัตรอาเซียน
2) ทำหน้าที่เป็น focal point ในการประสานงานของเสาการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
                4.2 ในฐานะหน่วยงานประสานหลักดูแลภาพรวมของการดำเนินการในกรอบอาเซียนของไทยกระทรวงการต่างประเทศใช้กลไกของคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ในการประสานงานระดับนโยบาย เพื่อบูรณาการการดำเนินการของหน่วยงานไทยและเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติเป็นระยะ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยราชการต่าง ๆ รวมทั้งประสานการดำเนินงานในประเด็นที่คาบเกี่ยวระหว่างทั้งสามเสา
                4.3 ในฐานะ focal point ในการประสานงานของเสาการเมืองและความมั่นคงอาเซียน กต. เป็นประธาน คณะกรรมการดำเนินการเพื่อจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคง เพื่อทบทวนความคืบหน้าล่าสุดในส่วนของไทยในการดำเนินการเพื่อเป็นไปตามแผนงานจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน รวมทั้งพิจารณาสาขาความร่วมมือที่ไทยควรผลักดันในการปฏิบัติตามแผนงานจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน อาทิ การแก้ไขปัญหายาเสพติด การจัดการเรื่องภัยพิบัติ และการต่อต้านการค้ามนุษย์
5. การดำเนินงานที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
                5.1 การเตรียมความพร้อมภาครัฐ กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการดำเนินการในหลายมิติ ทั้งในการให้แนวคิดแก่ส่วนราชการเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน การพัฒนาบุคลากรและการสร้างศักยภาพแก่ข้าราชการ และการส่งเสริมการปฏิบัติตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในทั้งสามเสา โดยที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันดำเนินการในประเด็นต่างๆ อาทิ
                ผลักดันให้มีการจัดตั้งกลุ่มงานหรือส่วนงานที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนโดยตรง (ASEAN Unit) ในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้สามารถดำเนินการและเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาข้าราชการพลเรือน เพื่อจัดโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนแก่ข้าราชการ พัฒนาทักษะการทำงานและเจรจาระหว่างประเทศ รวมทั้งทักษะภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านให้แก่ข้าราชการ
                จัดทำหลักสูตรอาเซียน เพื่อฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ให้แก่ข้าราชการหรือพนักงานหน่วยงานของรัฐ (ระดับไม่ต่ำกว่าชำนาญการ) หรือหน่วยงานภาคเอกชน (ระดับไม่ต่ำกว่าผู้จัดการ) ซึ่งปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้าน โดยจัดฝึกอบรมรุ่นแรกระหว่างวันที่ 13-26 สิงหาคม 2555 ทั้งนี้ การฝึกอบรมประกอบด้วยการบรรยายความรู้เกี่ยวกับอาเซียนจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการศึกษาดูงานภายในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นจุดเชื่อมโยงหรือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของไทยต่ออาเซียนในด้านต่างๆ และการดูงานในต่างประเทศ ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา
                ประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลักดันให้มีการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้ประชาคมอาเซียนในทั้งสามเสา เพื่อให้กฎหมายทันสมัยและเอื้อให้ไทยสามารถแข่งขันและใช้โอกาสจากประชาคมอาเซียนได้อย่างเต็มที่
5.2 การเตรียมความพร้อมภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคเอกชน รวมทั้ง SMEs ในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และได้สร้างเครือข่ายและการปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในสาขาต่าง ๆ โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการในประเด็นต่างๆ อาทิ
                เร่งดำเนินการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยได้มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ตลอดจนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคSMEs ของไทย โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการต่าง ๆ อาทิ
                จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้ข้อมูลและคำปรึกษากับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ
                สร้างเครือข่ายการให้ความรู้ของศูนย์บริการข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะทยอยเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2555 ตลอดจนสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับท้องถิ่น อาทิ หอการค้าจังหวัด อบจ./อบต. รวมทั้งสถาบันการศึกษา เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระดับชุมชนและเยาวชน
                เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเตรียมการรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนผ่านสื่อต่าง ๆ และนิทรรศการเคลื่อนที่ อาทิ วีดีทัศน์ สิ่งพิมพ์ และเว็บไซต์ โดยเน้นการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
                จัดประชุม เวทีการมีส่วนร่วม และการบรรยาย/เสวนา ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสมาคมธุรกิจสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ปัญหาและอุปสรรค จากภาคเอกชน
5.3 การเตรียมความพร้อมภาคประชาชน กระทรวงการต่างประทศให้ความสำคัญกับการสร้าง
ความตระหนักรู้และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน และได้ร่วมมืออย่าง
ใกล้ชิดกับจากหน่วยราชการ ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์
และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนในประชาชนทุกภาคส่วนและในทุกระดับ โดยที่ผ่านมา
ได้มีการดำเนินการที่สำคัญหลายประการ อาทิ
                การจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ ใน 15 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ภูเก็ตฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก จันทบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร ลพบุรี ชลบุรี ระยอง ตาก เชียงรายสุราษฎร์ธานี และอุดรธานี
                การจัดกิจกรรมวันอาเซียน ในวันที่ 8 สิงหาคม ของทุกปี โดยในปี 2556 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ กต. จัดขึ้น ประมาณ 1,000 คน และมีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ กว่า 70 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วม
                การจัดทำสื่อเผยแพร่ (สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ วิทยุ)
                การจัดสัมมนาและส่งวิทยากรบรรยายแก่ครู นักเรียน สถาบันภาครัฐ และสถาบันการศึกษา
                การจัดค่ายเยาวชนภาษาอังกฤษ
6. การดำเนินงานข้างหน้า
                ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ทั้งในกรอบทวิภาคี อนุภูมิภาค และอาเซียน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป
                เร่งรัดการดำเนินการด้านความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการสร้างระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆเพื่อส่งเสริมที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของไทยในภูมิภาค และขยายความเจริญรุ่งเรืองไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
                ภาครัฐยังคงต้องเร่งดำเนินการภายในให้สอดคล้องกับข้อตกลงในการเป็นประชาคมอาเซียนเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและส่งเสริมบทบาทของไทยในอาเซียนต่อไป รวมทั้งปรับโครงสร้าง และปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการค้าและการลงทุนในไทย และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทย
                พัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจของไทยให้ได้มาตรฐานและมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียนและตลาดโลก
                ผลักดันการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจและผู้ประกอบการของอาเซียน เพื่อสร้างความร่วมมือ และลดการแข่งขันระหว่างกัน
                ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลอาเซียนได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ภาคการเกษตร และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยจัดทำข้อมูลที่จำเป็นในภาษาที่เข้าใจง่ายในการเผยแพร่ และใช้ช่องทางภูมิภาคและท้องถิ่นในการเผยแพร่ข้อมูลมากยิ่งขึ้น เช่น การให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นสื่อกลางในการถ่อยทอดข้อมูลไปยังประชาชนในท้องที่ของตน ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของท้องถิ่นแต่ละแห่ง โดยกระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิด

กองยุทธศาสตร์และความร่วมมืออาเซียน
กรมอาเซียน
ตุลาคม 2556



ขอขอบคุณข้อมูลจาก:http://www.mfa.go.th



คำถาม !!

1. อาเซียนมีเป้าหมายจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในวันที่เท่าไหร่ ??
2. ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยสามเสาหลักได้แก่อะไร ??
3. การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในแต่ละเสา ซึ่งผู้นำอาเซียนได้รับรองเมื่อวันที่เท่าไหร่ ??
4. ไทยยังอยู่ระหว่างดำเนินนโยบายด้านใด เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ??
5. เสาการเมืองและความมั่นคง ได้แก่ ??
6. เสาเศรษฐกิจ ได้แก่ ??
7. เสาสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ ??
8. กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทหลักใน 2 เรื่อง คือ ??
9. กลไกในระดับชาติเพื่อรองรับการดำเนินการในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ได้แก่ ??
10. การเตรียมความพร้อมของไทย ต้องทำอย่างไร ??

เฉลย !!

1. วันที่ 31 ธันวาคม 2558

2. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยประสานงานหลัก) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยประสานงานหลัก) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยประสานงานหลัก)
3. วันที่ 1 มีนาคม 2552

4. ด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกหลายประการ

5. คณะกรรมการดำเนินการเพื่อจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงโดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

6. คณะอนุกรรมการดำเนินการตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

7. คณะกรรมการแห่งชาติด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน

8.  1) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานหลัก (focal point) ดูแลภาพรวมเรื่องอาเซียน ในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติตามกฎบัตรอาเซียน
   2) ทำหน้าที่เป็น focal point ในการประสานงานของเสาการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

9.   1) คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ
      2) คณะอนุกรรมการว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน
      3) คณะอนุกรรมด้านการประชาสัมพันธ์ประชาคมอาเซียน
      4) คณะกรรมการ/อนุกรรมการสำหรับการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในแต่ละเสา

10. ไทยต้องสร้างความพร้อมและความเข้มแข็ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคงและไทยยังอยู่ระหว่างดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกหลายประการเพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น